ทำไมต้องทำงานวิจัย
สาเหตุสำคัญของการกำหนดให้บุคลากรต้องมีการทำวิจัยนั้น เนื่องมาจากเห็นความสำคัญหรือประโยชน์ของการวิจัย นั่นเอง ซึ่งสามารถสรุปประโยชน์ของการทำวิจัยได้ ดังนี้
- เกิดวิทยาการใหม่ ๆ เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติ
- ใช้แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องและยุติธรรม
- ช่วยให้เข้าใจและทำนายปรากฏการณ์และพฤติกรรมต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
- ช่วยในด้านการกำหนดนโยบาย การวางแผนงาน และตัดสินปัญหา
- ตอบคำถามที่ยังคลุมเครือให้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น
- ช่วยกระตุ้นความสนใจของนักวิชาการ
- ทำให้ทราบข้อเท็จจริงต่าง ๆ ซึ่งนำมาใช้เป็นประโยชน์เพื่อการปรับปรุงหรือพัฒนา
- ช่วยให้มีเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา
- ช่วยกระตุ้นบุคคลให้มีเหตุผล รู้จักคิด และค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ
- ช่วยในการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานระดับบุคคล หน่วยงานและองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ทำให้การปฏิบัติงานต่างๆ เป็นไปอย่างถูกต้องและมีเหตุผลดียิ่งขึ้น
จะเห็นได้ว่าการทำวิจัยมีประโยชน์หลายประการ ทั้งนี้ ถ้าจะกล่าวถึงจุดมุ่งหมายทั่วไปของการวิจัยอย่างกว้าง ๆ แล้วอาจกล่าวได้ว่า ในการทำการวิจัยใด ๆ ก็ตาม ผู้ทำการวิจัยจะมีจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 ประการนี้ คือ - เพื่อเพิ่มพูนความรู้ใหม่ เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์มีความอยากรู้อยากเห็น อยากทราบเหตุผลและปรากฏการณ์ของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จึงทำการวิจัยเพื่อค้นหาคำตอบ สิ่งใดที่พอรู้อยู่บ้างก็ทำให้รู้และเข้าใจดียิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มพูนวิทยาการให้กว้างขวางลึกซึ้ง
- เพื่อนำผลไปประยุกต์หรือใช้ให้เป็นประโยชน์ จุดมุ่งหมายของการวิจัยนี้เกิดขึ้นเมื่อมีปัญหาที่จะต้องค้นคว้าหาความจริงเพื่อนำผลที่ได้จากการวิจัยไปแก้ปัญหา หรือประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป
จุดมุ่งหมายของการวิจัยทั้ง 2 ประการนี้ มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน ทั้งนี้เพราะจุดมุ่งหมายประการแรกมุ่งวิจัยเพื่อเพิ่มพูนความรู้ใหม่ทำให้ค้นพบกฎหรือทฤษฎี ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ตามจุดมุ่งหมายของการวิจัยในข้อ 2