เมื่อคุณอยากจะทำวิจัยตลาดอะไรสักอย่าง คุณต้องเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับงานวิจัยก่อน แบ่งเป็นสองประเภท คือ การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ(Qualitative Research) ซึ่งเชื่อว่าบางคนยังอาจจะจำสลับ หรือสับสนความเหมือนและความต่างของมันอยู่ ดังนั้นวันนี้ Survey Market Thailand จะมาแชร์ความแตกต่างระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณแบบเข้าใจง่ายๆให้คุณอ่านครับ
ก่อนจะรู้ความแตกต่าง เรามาเริ่มเข้าใจความเหมือนกันก่อน ความเหมือนของการวิจัยเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณ คือ ทั้งสองอย่าง เป็นวิธีการแสวงหาความรู้ของมนุษย์ เพื่อค้นหาความจริงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อการค้นพบ (Discovering) แปลความหมาย พัฒนาวิธีการหรือระบบอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือพูดง่ายๆว่าเป็น การวิจัยเหมือนกัน
ความแตกต่างของการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณคือ
กระบวนทัศน์ ข้อสมมุติฐาน วิธีการศึกษา การเลือกกลุ่มตัวอย่าง วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล การสรุปผล มีความแตกต่างกัน
การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)
หมายถึง การวิจัยที่ศึกษาเพื่อมุ่งอธิบายความหรือปรากฏการณ์ที่ปรากฏตามธรรมชาติ โดยวิธีการอุปนัย โดยปราศจากการควบคุม เป็นพวกธรรมชาตินิยม (Naturalism) หรือปรากฎการณ์นิยม (Phenomenalism) ไม่มีตัวแปรต้น ตัวแปรตาม อาจมีหรือไม่มีทฤษฎีมาก่อน เน้นการศึกษาแบบเจาะลึก เฉพาะกรณีศึกษา กลุ่มตัวอย่างจะมีขนาดเล็กเน้นการศึกษาแบบกรณีศึกษา (Case study) เลือกมองปัญหาจากภายในสู่ภายนอก มุ่งความชัดเจน ความเข้าใจ และการนำไปใช้ได้ทั่วไปในสภาวะที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกันเท่านั้น สาระสำคัญอยู่ที่การให้ความหมาย การวิเคราะห์คุณค่า การให้ความหมายในเชิงคุณค่าเป็นสำคัญ วิธีการอาจจะโดยการสังเกต สัมภาษณ์ เข้าร่วมแบบเป็นทางการ ไม่เป็นทางการ แบบคนวงนอก แบบคนวงใน นิยมใช้ในการศึกษาชาติพันธุ์ มานุษยวิทยา นิยมใช้สร้างทฤษฎี เป็นการศึกษา เชิงจิตวิสัยตามมุมมองของผู้วิจัยเป็นหลัก มองบุคคลจากภายใน สนใจกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ เน้นการศึกษาเชิงพลวัต เพื่อการอธิบายปรากฏการณ์ การสร้างข้อสรุปเกิดจากการตีความ แปลความ วิเคราะห์ของผู้วิจัย เป็นความจริงเฉพาะชุด เป็นการสังเกตเชิงประจักษ์ (Empirical Observation) คำตอบที่ได้อาจมีได้หลายคำตอบและไม่มีคำตอบถูกหรือผิด ไม่ค่อยมีสมมติฐานถ้ามีจะเรียกสมมติฐานนั้นว่าสมมติฐานร่าง ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเข้าสู่สนามหรือพื้นที่จริงในการศึกษาและเป็นความจริงแบบเฉพาะบุคคล หากคนหนึ่งพบแล้วคนอื่นอาจค้นพบหรือไม่ค้นพบด้วยและอาจไม่เห็นด้วยก็ได้
การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research)
หมายถึง การวิจัยที่มุ่งหาข้อเท็จจริง เน้นหลักฐานเป็นสำคัญ เป็นการศึกษากระบวนการเชิงเหตุ-ผล หาสาเหตุจากทฤษฎีหรือสิ่งที่ผู้อื่นเคยศึกษาไว้แล้วทดสอบผล ทั้งในด้านความสัมพันธ์ ความแตกต่าง การทำนาย และความเป็นสากล หรือใช้ได้ทั่วไปของข้อค้นพบ (General) เป็นพวก “หลักฐานนิยม” เน้นความเป็นรูปธรรมที่ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) หากคนหนึ่งพบแล้วคนอื่นต้องค้นพบด้วย เป็นความจริงหนึ่งเดียว(Naïve Realism-อ่านว่า เนอีฟ เรียลลิซึม) เป็นการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ โดยสุ่มกลุ่มตัวอย่าง เพื่ออ้างอิงไปยังกลุ่มประชากร เป็นการศึกษาแบบนิรนัย เอาทฤษฎีนำ มักมีการควบคุมเช่น มีกลุ่มทดลอง กลุ่มควบคุม หรือมีตัวแปรต้น ตัวแปรตาม มีตัวแปร มีทฤษฎี มาเกี่ยวข้อง ความถูกต้องขึ้นอยู่กับวิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างว่าสามารถใช้เป็นตัวแทนของประชากรได้จริงหรือไม่ รวมทั้งตัวแปรที่เราเลือกมาศึกษาตามทฤษฎี/ข้อค้นพบของคนอื่นหลายๆคน ว่าตัวแปรที่เราเลือกมาทั้งหมดนั้นครอบคลุมเรื่องที่ศึกษาหรือไม่ มักมีสมมติฐาน การทดสอบสมมติฐานนิยมใช้สถิติอ้างอิง มีการยอมรับหรือปฏิเสธสมมติฐาน นำเสนอข้อมูลเป็นตัวเลข เป็นตาราง เป็นกราฟมีตัวเลข มีคำอธิบายสั้นๆ เน้นการตรวจสอบซ้ำได้ เพื่อทดสอบ/ยืนยัน ทฤษฎีหรือสมมติฐาน ทำนายปรากฎการณ์ เพื่อควบคุม เป็นความจริงสากล ถ้าข้อค้นพบของเราเป็นจริงก็หมายถึงคนอื่นๆก็จะสามารถเข้าใจเห็นตามตรงกันได้ไม่ว่าสถานการณ์ใดๆก็ตาม แต่การวิจัยแบบนี้ขอให้ระมัดระวังข้อผิดพลาด 2 ประการ (error) คือ (1) ข้อค้นพบที่ได้นั้นเป็นจริงแต่เราปฏิเสธว่าไม่จริง (2) ข้อค้นพบนั้นไม่จริง แต่ทดสอบสมมติฐานแล้วพบว่าเป็นจริง ซึ่งเขาจะเผื่อกันเหนียวตรงนี้ไว้ด้วยตัวเลขนัยสำคัญทางสถิติ เช่น 0.5 , 0.1 , 0.01 คือข้อมูลของเราเชื่อถือได้มากเท่าไร นั่นเอง เช่น 0.5 ก็หมายความว่า ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% (เอา 1 ลบตัวเลขนัยสำคัญ คูณ 100) ครับ
ผมหวังว่าข้อมูลนี้คงจะให้ความเข้าใจกับคุณได้ไม่มากก็น้อยนะครับ หากการวิจัยเป็นเรื่องใหม่สำหรับคุณ สามารถติดต่อสอบถามจาก Survey Market Thailand ซึ่งเปิดให้บริการรับทำวิจัยตลาดหลากหลายรูปแบบได้เลยครับ