Covid-19 ตอกย้ำความสำคัญ
ของทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
“การศึกษา” คำนี้อาจจะทำให้ทุกคนนึกถึงการเรียนการสอนรูปแบบเก่า ที่อยู่ในห้องเรียน หรือการเรียนในระบบตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันการศึกษาจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศและสังคมโลก เราจะพาทุกคนมาสำรวจกันว่า การศึกษารูปแบบใหม่ในยุค New Normal นี้มีทิศทางการปรับตัวกันอย่างไรบ้าง
“ระบบการศึกษาทั่วโลก” ใช้ “Educational Technology” มากขึ้น
ปรากฏการณ์หนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนท่ามกลางสถานการณ์ “COVID-19” คือด้านการศึกษา ที่หันมาใช้ระบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น เช่น DingTalk Tencent Google Hangout Meet Google Classroom เป็นต้น รวมทั้งยังมีแอปพลิชันเกี่ยวกับการศึกษาต่างๆ มากมาย ซึ่งเทคโนโลยีสามารถเปลี่ยนบทบาทครูผู้สอน จากที่เคยเป็นผู้ชี้นำ ไปสู่การเป็นผู้สนับสนุน และให้คำแนะนำแก่นักเรียน ช่วยให้การนำเสนอเนื้อหาการเรียนการสอนมีความน่าสนใจขึ้น และช่วยเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การสร้างความร่วมมือ ความคิดสร้างสรรค์ ออกจากกรอบของการเรียนรู้ที่จำกัดเฉพาะในห้องเรียนสี่เหลี่ยมดังที่เคยเป็นมา
กล้าทดลอง กล้าเรียนรู้ ปรับตัวรับมือเมื่อโลกพลิกผัน
ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญที่ครูผู้สอนหรือผู้ใหญ่ควรปลูกฝังเด็กคือทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นเพื่อรับมือกับโลกอันพลิกผัน การสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 เน้น 3 องค์ประกอบ คือ Attitude (ทัศนคติ อุปนิสัย) เด็กต้องใฝ่หาความรู้ อดทน รับผิดชอบ กล้าทดลอง กล้าล้มเหลว กล้าผิดพลาด Skill (ทักษะ) ในเชิงวิพากษ์ สื่อสาร ทำงานเป็นทีม และ Knowledge (ความรู้) พื้นฐาน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน โดยทักษะเหล่านี้สามารถฝึกได้โดยการส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากการเล่น เช่น เรียนรู้จากงานศิลปะ การทดลอง และกิจกรรมนอกเวลาต่างๆ ซึ่งจะทำให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแกร่ง เอาตัวรอดได้แม้ต้องเผชิญกับยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงเช่นในวิกฤตโควิด-19
ในช่วงเริ่มต้นของการศึกษาในศตวรรษที่ 21 นี้เอง ความท้าทายของสถาบันการศึกษาจึงเป็นเรื่องการปรับตัวของระบบการศึกษา ให้สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นในอนาคต และต้องมีโครงสร้างการเรียนการสอนแบบชัดเจนเช่นการเรียนการสอนแบบ Active learning ที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติที่หลากหลายรูปแบบ หรือการเรียนแบบข้ามศาสตร์เพิ่มขึ้น เช่น เรียนเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องหลัก แต่ก็มีความรู้เรื่องดิจิทัล การเงิน ไปด้วย เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะได้อย่างรอบด้านและหลากหลาย อันจะส่งผลต่อการทำงานที่จะประกอบอาชีพในอนาคต แน่นอนว่า องค์กรก็คงต้องให้ความสำคัญกับการจ้างงานสำหรับบุคคลที่มี Skill หลากหลายด้าน มีกรอบความคิดที่เป็น Task based ที่ครบเครื่องมากกว่าใคร อันจะทำให้องค์กร ขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
สุขภาพจิต สุขภาพกายที่ดี หัวใจสำคัญของการเรียนรู้
การดูแลตัวเอง และคนในครอบครัวให้มีสุขภาพกายและใจให้เข้มแข็ง จึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญสูงสุดในภาวะเช่นนี้ เพราะการเรียนรู้ที่ดีย่อมเกิดจากกายและใจที่แจ่มใส ในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ เมื่อผู้เรียนพร้อม การเรียนก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือเรื่องยากอีกต่อไป
ที่มา
http://www3.weforum.org/docs/WEF_New_Vision_for_Education.pdf
https://tdri.or.th/2020/05/desirable-new-normal-for-thailand-education/