บทคัดย่อ (Abstract) เป็นส่วนที่เขียนสรุปสาระสำคัญของงานวิจัยทั้งหมด เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจภาพรวมการศึกษาของงานวิจัย การเขียนบทคัดย่อควรใช้ข้อความสั้น กะทัดรัดและกระชับ (concision) มีความถูกต้อง (precision) และมีความชัดเจน (clarity) บทคัดย่อควรเขียนเรื่องสำคัญ ๆ ที่เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ควรประกอบด้วย
1) ที่มาของความสำคัญที่เกี่ยวข้องของงานวิจัย
2) วัตถุประสงค์ ควรระบุวัตถุประสงค์ของงานวิจัยให้ชัดเจน และอาจใส่ขอบเขตของเนื้อหางานวิจัย เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่างานวิจัยต้องการทราบอะไร
3) ระบุขั้นวิธีการดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่าง จำนวนตัวอย่าง วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล ช่วงเวลาในการเก็บรวบรวมข้อมูล หรือข้อมูลสมมติฐานอื่นใดที่สำคัญต่องานวิจัย
4) ผลการศึกษา ระบุข้อค้นพบ (ผลการวิจัย) จากงานวิจัยที่โดดเด่นที่สุด ควรเลือกข้อมูลที่สำคัญมากที่สุดจากงานวิจัย โดยสัมพันธ์กับคำสำคัญจากชื่อเรื่องด้วย
5) สรุปผลการวิจัย สรุปรวบยอดผลการวิจัยและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายหรือวิธีการปฏิบัติประเด็น ซึ่งมีไว้เพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำไปปฏิบัติได้โดยการบอกกับผู้อ่านว่าความรู้ที่ได้จากการศึกษาของผู้วิจัยจะช่วยกลุ่มเป้าหมายที่ศึกษาได้อย่างไร หรือมีประสิทธิภาพ และ/หรือ มีคุณค่าอย่างไร นอกเหนือจากองค์ประกอบข้างต้นแล้วผู้เขียนอาจเพิ่มเติมส่วนข้อเสนอแนะ หรือสิ่งควรต่อยอดเพิ่มเข้าไปได้หากเห็นสมควร วันนี้เรามีเทคนิคดีๆมาฝากกันค่ะ
1. ควรคัดแต่เรื่องสำคัญ ๆ ที่เป็นประเด็นน่าสนใจทั้งหมด
บทคัดย่อที่ดี จะต้องเน้นการถ่ายทอดเฉพาะ จุดเด่นของการศึกษา โดยงานวิจัยมีความชัดเจน สั้น กะทัดรัด พอดีกับกฎเกณฑ์บางอย่างของบทคัดย่อที่ดี เช่น จำนวนคำต้องอยู่ระหว่าง 200-250 คำ หรือประมาณไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ A4
2.ควรอ่านและทำความเข้าใจกับงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ของตนเอง
ก่อนการเขียนบทคัดย่อ เพื่อหา ประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ดึงดูดให้ผู้อ่านทั่วไปอยากอ่านวิจัยเล่มสมบูรณ์
3. ไม่มีการตีความหรือวิภาควิจารณ์โดยใช้ความคิดของตนเอง
4. ไม่ควรเขียนประโยคที่เข้าใจยาก
หรือมีความรุนแรงในตัวมาใช้ ไม่ใช้ศัพท์เฉพาะท้องถิ่น ไม่ใช้ตัวย่อ หรือสัญลักษณ์โดยไม่จำเป็น เพราะอาจสร้างความไม่เข้าใจให้ผู้อ่านได้
5. ไม่มีการอ้างอิงต่างๆ
ในการอ้างอิงตัวเลข แผนภาพ ตาราง โครงสร้างสูตรสถิติต่าง ๆ หรือสมการต่าง ๆ ในบทคัดย่อ นอกจากจำเป็นที่จะแสดงผลการวิเคราะห์
6. มีหลายย่อหน้าได้ เพื่อเพิ่มความเข้าใจให้ผู้อ่านในแต่ละตอน
7. หลีกเลี่ยงการอ้างอิงงานวิจัยของผู้อื่นในบทคัดย่อ
8. ทำตามขั้นตอนของโครงสร้างการเขียนบทคัดย่อ
โดยต้องระมัดระวังให้มากรวมถึงลักษณะแบบตัวอักษร ขนาดตัวอักษร การกำหนดขอบเขตหน้ากระดาษ เคร่งครัดต่อหลักการพิมพ์ และรูปแบบที่เป็นที่ยอมรับ ควรระมัดระวังในการตรวจสอบการเขียนโดยอ่านหลาย ๆ รอบ จะเป็นการเพิ่มคุณภาพของบทคัดย่อให้เป็นที่ ยอมรับในการนำเสนองานวิจัย
เทคนิคการเขียนบทคัดย่อ ควรเขียนบทคัดย่อหลังสุด เนื่องจากการเขียนบทคัดย่อจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจในเนื้อหาสำคัญทั้งหมดของงานวิจัยที่ได้ศึกษาก่อน และตรวจสอบและทำความเข้าใจข้อกำหนดสำหรับการเขียนบทคัดย่อ เช่น กำหนดจำนวนคำในบทคัดย่อ อ่านแล้วลองนำไปปรับใช้ในงานวิจัยของคุณได้เลยค่ะ
ที่มา : การเขียนบทคัดย่อสำหรับงานวิจัย