หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่ต้องอ่านหรือหยิบข้อมูลสำคัญจากอ่านวิจัยเพื่อนำข้อมูลไปต่อยอด แต่ไม่เคยมีเวลาตั้งใจอ่านสักทีเพราะมันต้องใช้เวลาเยอะ บทความนี้ถูกเขียนมาเพื่อคุณ การอ่านงานวิจัยแต่ละฉบับเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะการอ่านงานวิจัยอย่างมีคุณภาพนั้นเราจะอ่านให้จบไปเพียงอย่างเดียวไม่ได้นะคะ แต่เราต้องอ่านด้วยความเข้าใจ เพราะงานวิจัยหลายฉบับถึงแม้ว่าจะมีคำค้นหาตรงกับสิ่งที่เราต้องการ ถ้าหากเรามีเวลาว่างเหลือเฟือเราอาจจะอ่านงานวิจัยวันละกี่ฉบับก็ได้ไม่มีปัญหา แต่ปัญหาคือคุณอาจจะไม่มีเวลา ดังนั้น วันนี้เรามี 5 เทคนิค อ่านงานวิจัยได้เร็ว ในเวลาจำกัดสำหรับคนที่มีเวลาจำกัดมาฝากค่ะ
- ชื่องานวิจัย
ก่อนเริ่มต้นอ่านงานวิจัยฉบับใดก็ตาม ผู้อ่านควรอ่านชื่องานวิจัยนั้น ๆ อย่างละเอียดให้เข้าใจก่อนว่างานวิจัยฉบับนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เรากำลังสนใจหรือไม่ เพราะถึงแม้งานวิจัยนั้นจะตรงกับสิ่งที่เราสนใจ แต่ถ้าในชื่องานวิจัยระบุถึงกลุ่มประชากรที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราต้องการจะอ่าน หรือมีวิธีวิจัยที่แตกต่างไปจากที่เราต้องการ ยกตัวอย่างเช่น เราสนใจงานวิจัยเรื่องการใช้ยา A ในหญิงตั้งครรภ์เพื่อที่ต้องการจะทราบว่ายานั้นมีผลต่อเด็กทารกหรือไม่ แต่งานวิจัยที่เราค้นมาได้มีชื่อว่า ‘การศึกษาการใช้ยา A ในผู้สูงอายุ’ ซึ่งไม่ตรงกับสิ่งที่เราต้องการ เราก็ควรข้ามการอ่านงานวิจัยนั้น ๆ เพื่อเป็นการประหยัดเวลาค่ะ
2. เริ่มอ่านจากบทคัดย่อ
บทคัดย่อ หรือ abstract จะเป็นจุดศูนย์รวมทุกอย่างของงานวิจัยนี้ ตั้งแต่ที่มาและความสำคัญของงานวิจัย (background) วัตถุประสงค์ของการทำงานวิจัยนี้ (objectives) ระเบียบวิธีวิจัยหรือขั้นตอนวิธีการต่าง ๆ ในการทำงานวิจัย (methods) ผลการวิจัย (results) และสรุปผลการวิจัย (conclusions) ซึ่งหากต้องการประหยัดเวลาในการอ่านงานวิจัยจริง ๆ ก็สามารถอ่านแค่บทคัดย่อของงานวิจัยนั้น ๆ อย่างเดียวก็ได้ แต่อย่าลืมว่าเนื้อหาที่ผู้วิจัยเขียนในบทคัดย่ออาจมีโอกาศแตกต่างจากเนื้อหาด้านในได้ รวมไปถึงการสรุปผลการวิจัยเช่นกัน ดังนั้นถ้ามีเวลาผู้อ่านก็ควรอ่านเนื้อหาด้านในทั้งหมดเพื่อประเมินความน่าเชื่อถือของงานวิจัยนี้อีกครั้งนะคะ
3. อ่านกราฟแผนภูมิตารางให้เข้าใจ
งานวิจัยหลายฉบับมักเลือกแสดงผลลัพธ์เป็นรูปภาพ กราฟ ตาราง แผนภูมิ (ยกเว้นงานวิจัยที่มีลักษณะเป็นการพรรณนาหรือการบรรยาย) ซึ่งการอ่านผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยจากสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจและช่วยประหยัดเวลาได้มากขึ้น แต่อย่าลืมว่าไม่ใช่ผลลัพธ์ทั้งหมดที่จะแสดงออกมาในรูปแบบกราฟหรือตารางนะคะ เพราะฉะนั้นต้องดูให้ดีด้วยว่าสิ่งที่เรากำลังอ่านอยู่ตรงกับผลลัพธ์หลักที่งานวิจัยนี้ระบุหรือไม่ และต่อไปนี้ก็จะเป็นทริคเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการอ่านงานวิจัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจเนื้อหาในงานวิจัยนะคะ
4. การเน้นสิ่งที่สำคัญ
งานวิจัยหลายฉบับอาจมีเนื้อหาหลายหน้า อ่านมาก ๆ ก็อาจจะลายตาหรือมีโอกาสที่เราจะลืมจุดที่สำคัญนั้น ๆ ไปได้ ดังนั้นเราควรขีดเน้นหรือกาดอกจันในจุดที่เราสนใจ หรือจุดที่เราจะกลับมาทำความเข้าใจเพิ่มในภายหลังไว้เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลากลับมาอ่านซ้ำใหม่ค่ะ
5. ข้ามเนื้อหาบางส่วนไปก่อน
แน่นอนค่ะว่าการอ่านงานวิจัยแต่ละฉบับเราควรอ่านและทำความเข้าใจในเนื้อหาทั้งหมดพร้อมกับการประเมินความน่าเชื่อถือของงานวิจัยนั้น ๆ ไปด้วย แต่ในเวลาที่จำกัดเราอาจจะจำเป็นต้องเลือกอ่านเฉพาะจุดที่เราสนใจหรืออ่านเนื้อหาที่เราต้องการจะนำไปใช้ก่อน