การตั้งชื่อหัวข้อศึกษาค้นคว้า
การคิดหัวข้อ และการกำหนดชื่อเรื่อง
ผู้เขียน: วิจิตร ณัฏฐการณิก ค.บ., ศษ.ม. ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนหอวัง
การคิดหัวข้อ
การคิดหัวข้อ หรือการกำหนด “ชื่อเรื่อง” ของปัญหาที่จะทำการศึกษาค้นคว้าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของการค้นคว้าอิสระ การคิดหัวข้อ หรือ “ชื่อเรื่อง” มีหลักเกณฑ์ดังนี้
- คิดหัวข้อ และเลือก “ชื่อเรื่อง” ด้วยตนเอง
- คิดหัวข้อ หรือ “ชื่อเรื่อง” จากประเด็นปัญหา ข้อสงสัย คำถาม หรือเรื่องที่อยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ของตนเอง
- คิดหัวข้อ หรือ “ชื่อเรื่อง”ให้มีความเฉพาะเจาะจงและชัดเจน โดยต้องระบุชัดว่าจะค้นคว้าอะไร
- หากเป็นเรื่องแปลกใหม่ หรือมีแนวการศึกษาทดลองที่แปลกใหม่ ต้องเป็นสิ่งซึ่งแสดงออกถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ด้วย
- คำนึงถึงเป็นประโยชน์ของเรื่องที่จะศึกษาค้นคว้า และเป็นการเพิ่มคุณค่าของผลงงานการค้นคว้าอิสระมากยิ่งขึ้น
แหล่งที่มาของชื่อเรื่อง
“ชื่อเรื่อง” ในการค้นคว้าอิสระอาจมีที่มาจากแหล่งต่างๆ ดังต่อไปนี้
- จากการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เช่น ตำรา หนังสือพิมพ์ วารสาร เอกสารเผยแพร่ เป็นต้นไม่เฉพาะแต่เรื่องราวทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น
- จากการไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ เช่น วนอุทยาน สวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์ โรงงานอุตสาหกรรม สถานที่เพาะเลี้ยงพืชและสัตว์ หน่วยงานวิจัย ห้องปฏิบัติ เป็นต้น
- จากการฟังบรรยายทางวิชาการ การฟังและชมรายการวิทยุโทรทัศน์
- จากกิจกรรมการเรียนการสอนในโรงเรียน
- จากงานอดิเรกของนักเรียนเอง
- จากการเข้าชมนิทรรศการ หรืองานประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- จากการศึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีผู้อื่นทำไว้แล้ว
- จากการสนทนากับครู อาจารย์ เพื่อนๆ หรือบุคคลอื่นๆ
- จากการสังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ รอบตัว
องค์ประกอบของชื่อเรื่อง
“ชื่อเรื่อง” ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญครบทั้ง 3 ส่วน คือ วิทยวิธี, เป้าหมาย และตัวแปร/เครื่องมือ
- วิทยวิธี หมายถึง วิธีการที่ใช้ดำเนินการในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องที่สนใจ ซึ่งต้องเขียนขึ้นต้นชื่อเรื่องเสมอ คำที่แสดงวิทยวิธีมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 6 คำ คือ
การสำรวจ
การศึกษา
การพัฒนา การประเมิน
การเปรียบเทียบ
ความสัมพันธ์ระหว่าง - เป้าหมาย หมายถึง จุดประสงค์สุดท้ายอันเป็นปลายทางของการค้นคว้าอิสระเกี่ยวกับประเด็นปัญหาหัวข้อ หรือชื่อเรื่องนั้นๆ
- ตัวแปร หรือเครื่องมือ
3.1 ตัวแปร หมายถึง สิ่งที่มีอิทธิพล ผล หรือสิ่งที่อาจก่อให้เกิการเปลี่ยนแปลงของการทดลอง
3.2 เครื่องมือ หมายถึง วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการดำเนินการศึกษาค้นคว้า
ตัวอย่างชื่อเรื่องที่มีองค์ประกอบครบทั้ง 3 ส่วน เช่น
“การสำรวจปริมาณแมลงศัตรูพืชในนาข้าวจังหวัดสุพรรณบุรีที่ใช้ยันต์กันเพลี้ย”
“การศึกษาวิธีการสกัดเย็นน้ำมันมะพร้าว”
“การพัฒนาเว็บบล็อก (WebBblog) ด้วย (WordPress) เรื่อง ประเภทของคอมพิวเตอร์”
“การประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน”
“การเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการไล่ยุงระหว่างสารสกัดเปลือกส้มกับสารสกัดตะไคร้หอม”
“ความสัมพันธ์ระหว่างหญ้าแฝกกับการเพิ่มผลผลิตในพื้นที่สูง”
ข้อควรคำนึงในการกำหนดชื่อเรื่อง
ข้อควรคำนึงที่พึงพิจารณาประกอบการคิดหัวข้อ หรือกำหนด “ชื่อเรื่อง” ที่จะศึกษาค้นคว้ามีดังนี้
- เป็นเรื่องที่มีความรู้ ทักษะการใช้อุปกรณ์พื้นฐาน และมีทักษะในเทคนิควิธีอย่างเพียงพอ
- มีแหล่งความรู้อย่างเพียงพอที่จะค้นคว้าหรือขอคำปรึกษา
- วัสดุ อุปกรณ์ที่จำเป็นสามารถจัดหา หรือจัดทำขึ้นเองได้
- มีระยะเวลาเพียงพอที่จะทำการค้นคว้าในเรื่องนั้นๆ
- มีครู อาจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิรับเป็นที่ปรึกษา
- มีความปลอดภัย
- มีงบประมาณเพียงพอ